วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

เจ้าที่และพระภูมิ

 
เจ้าที่และพระภูมิ
Guardian Spirit and Demigod

มาเข้าใจทำความรู้จักกับระดับชั้นของวิญญาณกันก่อน
วิญญาณสัมภเวสีทั่วไป คือ จิต ที่ออกมาจากสัตว์ต่างๆเมื่อได้สิ้นชีวิตอายุขัยแล้ว โดยจะดำรงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงสภาพภพภูมิไปตามกรรมที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้ง ที่ยังมีชีวิตที่ผ่านมา
เทพระดับต้น คือ จิตของผู้ที่ได้เคยสร้างกรรมดีมีบุญกุศลติดตัวเอาไว้อยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
เทพระดับสูง คือ จิต ของผู้ที่เคยสร้างสะสมกรรมดีมีบุญบารมีที่สูงพอสมควร ได้พำนักอาศัยในสรวงสวรรค์และมีหน้าที่คอยดูแลช่วยเหลือสรรพสัตว์ มักเป็นที่รู้จักและเคารพสักการะของผู้คนทั่วไป ได้แก่เทพเซียนต่างๆ
เทพเจ้า คือ ผู้ปกครองดูแลเหล่าเทพต่างๆทั้งหลาย ทำหน้าที่สำคัญในอาณาบริเวณหรือทิศทางที่สถิตอยู่
พรหม คือ  จิตของผู้ที่ตั้งมั่นในศีลธรรมและได้สะสมกรรมดีบุญบารมีต่างๆเอาไว้อย่างมากมาย
พระโพธิสัตว์ คือ จิต ของผู้ที่ได้สะสมกรรมดีบุญบารมีเอาไว้มากมายมหาศาล มีจิตใจและปัญญาอันละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มีโอกาสที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อไป
พระพุทธเจ้า คือ จิตของผู้ที่มีจิตใจและปัญญาค้นพบความนิพพานคือการหลุดพ้นแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงจนหมดสิ้น ละแล้วซึ่งการเวียนว่ายตายเกิด


เจ้าที่และพระภูมิคืออะไร
เจ้าที่ คือ วิญญาณสัมภเวสี ทั่วไปที่สถิตอยู่ในสถานที่หรือพื้นที่อาณาเขตบริเวณต่างๆ โดยเจ้าที่ในการดูแลสถานที่นั้นส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าที่มาจากศูนย์สวรรค์ที่ ได้รับการอบรมและมีกฎระเบียบเพื่อเป็นเจ้าที่โดยเฉพาะ สามารถทำพิธีกรรมอัญเชิญให้มาสถิตได้ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากวิญญาณ บรรพบุรุษ หรือวิญญาณสัมภเวสีทั่วไปอื่นๆ  
พระภูมิ คือ เทพระดับต้นที่ได้ถูกพิธีกรรมอัญเชิญมาสถิตอยู่ในสถานที่อาณาเขตบริเวณเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลปกป้องคุ้มครองพื้นที่นั้น

ประวิติความเป็นมาของเจ้าที่
เมื่อ ครั้งพระเจ้าเม่งไท้โจ้วฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์หมิง เสด็จออกประพาสตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อตรวจดูทุกข์สุขราษฎร ทรงพบขุนนางปกครองท้องถิ่นผู้หนึ่งคุยกันถูกคอ จึงทรงนัดไปเสวยสุราที่โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง โรงเตี๊ยมวันนั้นคนแน่นมาก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นมีโต๊ะตัวหนึ่งเป็นที่ตั้งวางป้ายบูชาเจ้าที่พระองค์ จึงทรงหยิบป้ายบูชาเจ้าที่นั้นวางลงบนพื้น แล้วนำโต๊ะตัวนั้นไปใช้ประทับ ภายหลังเสด็จออกจากโรงเตี๊ยมทรงลืมไม่ได้นำป้ายบูชาเจ้าที่ที่วางอยู่บนพื้น กลับไปตั้งวางไว้บนโต๊ะตามเดิม เจ้าของโรงเตี๊ยมเห็นเข้าจึงนำป้ายบูชานั้นกลับไปวางบนโต๊ะตามเดิม คืนนั้นเจ้าที่ได้ไปเข้าฝันเจ้าของโรงเตี๊ยมว่า "พระเจ้าแผ่นดินให้ข้าอยู่บนพื้น ไม่ให้อยู่ที่สูง เจ้าจงนำข้ากลับไปไว้บนพื้นดินเช่นเดิม" ตั้งแต่นั้นมาผู้คนจึงนิยมตั้งเจ้าที่ให้ติดพื้นดิน
ประวิติความเป็นมาของพระภูมิ
พระภูมิ นั้นเป็นโอรสของพระเจ้าพาลีนามท้าวทศราช และมเหสีนามว่าสันทาทุก ซึ่งมีพระราชโอรสทั้งหมด ๙ พระองค์ แต่ละพระองค์ทรงมีฤทธิ์มาก มีปรีชาสามารถรอบรู้สิ่งต่างๆ โดยไม่มีใครเลื่อมล้ำต่ำกว่าใคร เมื่อพระโอรสเจริญพระชันษาพระราชาทศราชกับพระนางสันทาทุกก็ปรึกษาหารือกัน จนตกลงกันว่าจะมอบหน้าที่ให้โอรสแต่ละพระองค์ไปทำหน้าที่ปกครองเขตต่างๆ ซึ่งได้แก่
พระชัยมงคล  เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลสถานบ้านเรือน และโรงร้าน
พระนครราช   เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลประตู บันได ป้อมค่าย หอรบ
พระคนธรรพ์  เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลเรือนหอบ่าวสาวและการแต่งงาน
พระเทเพลหรือพระการทรพน เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลคอกสัตว์ต่างๆ
พระชัยสพหรือพระชัยกัสสปะ เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลยุ้งฉาง เสบียงคลัง
พระธรรมโหรา เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลสวน ไร่ นา ที่ดิน
พระวัยทัตหรือพระทาสธารา เป็นพระภูมิมีหน้าดูแลวัดวาอาราม ปูชนียสถาน
พระธรรมมิกราชหรือพระทันธิราช เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลพืชพันธุ์ธัญญาหาร
พระชัยมงกุฎ เป็นพระภูมิมีหน้าที่ดูแลห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำลำธาร

ประเภทของเจ้าที่และพระภูมิ
1.เจ้าที่และพระภูมิประจำบ้านเรือนสถานที่ทั่วไป คือ เจ้าที่และพระภูมิที่สถิตอยู่ภายในบริเวณที่อยู่อาศัยของบ้านพักประชาชน บุคคลทั่วไปรวมทั้งห้างร้านต่างๆ มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลกับผู้คนที่อยู่อาศัยในสถานที่เหล่านั้น
2.เจ้าที่และพระภูมิประจำศาลเจ้าหรือวัดวาอารามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ เจ้าที่และพระภูมิที่ดูแลสถิตอยู่ในบริเวณศาลเจ้าหรือสถานที่อัน ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งจะมีบทบาทน้อยเพราะในสถานที่เหล่านี้ผู้คนมักให้ความสำคัญกับเทพเซียน เช่น เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ต่างๆ รวมไปถึงพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายมากกว่า แต่จะอยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัดมากกว่าเพราะต้องอยู่ในสายตาของผู้ที่ ระดับสูงกว่า แต่ก็จะได้รับการแบ่งเครื่องบูชาที่มีผู้คนมาสักการะอย่างมิขาด หากทำดีมีผลงานก็จะได้เลื่อนขั้นเร็วแต่ถ้าทำไม่ดีจะถูกลงโทษได้ง่าย
3.เจ้าที่และพระภูมิประจำสถานที่ราชการ   คือ เจ้าที่และพระภูมิที่คอยดูแลปกปักรักษาสถานที่ราชการ จะมีตำแหน่งและอำนาจค่อนข้างมากเพราะเป็นผู้ที่ดูแลสมบัติของแผ่นดิน

หน้าที่ของเจ้าที่และพระภูมิ
1.ช่วยให้สมาชิกทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่ปรองดอง และอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
2.ปกป้องทรัพย์สินให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ
3.ช่วยหารายได้ให้พอกินพอใช้ตามฐานะไม่ขาดแคลน ส่วนจะเหลือกินเหลือเก็บหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมวาสนาของผู้อาศัย

เรือนที่อยู่และตำแหน่งที่ตั้งของเจ้าที่และพระภูมิ
เนื่อง จากเป็นการยากที่บุคคลทั่วไปไม่มีสมาธิจิต ไม่มีวิชา หรือไม่สามารถสื่อหยั่งรู้ได้ว่าเจ้าที่พระภูมิอยู่ที่ใด การจัดตั้งศาลเจ้าที่และพระภูมินั้นเป็นกุศโลบาย เพื่อให้เจ้าที่พระภูมิสถิตอยู่เป็นกิจจะลักษณะ มาสถิตที่ศาลที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหลัก เพื่อที่จะได้เตรียมเครื่องบูชาสักการะได้เป็นหลักแหล่ง และสื่อสารแจ้งกับเจ้าที่พระภูมิได้โดยตรงชัดเจนมากขึ้น วัสดุที่ใช้ทำเป็นศาลนั้น โดยทั่วไปนิยมทำด้วยไม้ ด้วยโบราณสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ แต่ปัจจุบันก็มีศาลหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น ศาลที่ทำด้วยหิน หินอ่อน ด้วยความเชื่อที่ว่าเจ้าที่พระภูมิอยู่กับพื้นดิน ปกปักรักษาที่ดิน จึงเลือกวัสดุที่เป็นธาตุดิน เพื่อให้ดูสวยงาม มั่นคง แข็งแรง ส่วนการที่ศาลเจ้าทั่วไปส่วนใหญ่มีสีแดงนั้น เป็นสีแห่งความเป็นมงคล อีกทั้งตามตำราฮวงจุ้ยเชื่อกันว่าเจ้าที่แทนถึงพลังงานธาตุไฟจึงได้จัดทำศาล เจ้าเป็นสีแดง ส่วนการที่ผู้อยู่อาศัยจะจัดตั้งศาลเจ้าที่หรือพระภูมิแบบไหนอย่างไรก็ขึ้น อยู่กับกำลังทรัพย์และความสะดวกมากกว่าไม่มีการกำหนดตายตัว
การ จัดตั้งของศาลเจ้าที่และพระภูมินั้นควรพิจารณาถึงพื้นที่และความเหมาะสมหาก ผู้อาศัยไม่มีความรู้มากพอควรที่จะปรึกษาซินแสหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่โดยทั่วไปนั้นจะตั้งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งศาลเจ้าที่มักจะตั้งอยู่ภายในสถานที่บ้านเรือน โดยหันหน้าออกไปทางด้านหน้าตรงกับประตูที่มีผู้คนเข้าออกจะเป็นการดีที่สุด เพราะจะช่วยดูแลการเข้าออกของผู้คน ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยของคนภายในและภายนอกด้วย ส่วนการตั้งพระภูมินั้นจะตั้งห่างออกมาอยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน แต่ควรหลีกเลี่ยงการจัดตั้งเจ้าที่พระภูมิใกล้กับสิ่งเหล่านี้ คือ บันได ห้องน้ำ ที่ทิ้งขยะ ที่สูง หรือตั้งศาลที่ลึกห่างไกลเกินไป ส่วนการที่จะตั้งใกล้กับพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิสิทธิ์นั้นไม่ขอแนะนำ เพราะจะทำให้เจ้าที่และพระภูมิรู้สึกอึดอัดที่ต้องอยู่ใกล้ผู้ใหญ่จนเกินไป หากไม่จำกัดพื้นที่มากนักควรแยกห่างออกมาจะดีกว่า

         
กายจำลองของเจ้าที่และพระภูมิ
นอก จากศาลเจ้าที่เปรียบเสมือนเรือนที่อยู่แล้ว ยังมีกายจำลองเพื่อใช้เป็นตัวแทนของเจ้าที่พระภูมิสำหรับให้ผู้อยู่อาศัยได้ ระลึกถึงและสื่อสาร ซึ่งกายจำลองนี้มักทำเป็นรูปผู้เฒ่าถือไม้เท้า มีทั้งชายและหญิง บางแห่งก็จัดตั้งไว้คู่กัน กายจำลองนี้มีก็ดีไม่มีก็ได้ เพราะใช้กระดาษแดงหรือผ้าแดงเขียนคำว่าเจ้า ติดไว้ที่ศาลก็ได้เช่นกัน ปัจจุบันศาลเจ้าที่มักเขียนคำว่าอักษรคำว่าเจ้าอยู่ที่กลางศาลอยู่แล้ว ก็ให้เชิญเจ้าที่และแจ้งให้ทราบว่าศาลนี้คือเรือนของท่าน เปรียบเสมือนผู้อาศัยได้ยกพื้นที่นี้ให้ท่านสถิต ในกรณีที่ไม่ทราบว่าเจ้าที่นั้นเป็นชายหรือหญิง (เจ้าที่ชายตี่จู้เอี๊ยกงหรือแปะกง เจ้าที่หญิงตี่จู้เอี๊ยม่าหรือแปะม่า) แม้ผู้อาศัยจะตั้งกายจำลองที่ไม่ถูกว่าเป็นชายหรือหญิงท่านก็ไม่ถือสา ส่วนกายจำลองของพระภูมินั้นเรียกว่า เจว็ด เป็นปูนปั้น โลหะ หรือไม้ที่สลักทำขึ้นมีลวดลายของพระภูมิ โดยจะตั้งไว้อยู่กึ่งกลางของศาลเช่นกัน

                          
กระธางธูปสำหรับเจ้าที่และพระภูมิ
กระ ธางธูปก็เป็นสิ่งสำคัญมากอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตั้งในศาล โดยจะเลือกใช้วัสดุและขนาดของกระธางนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของขนาดของ ศาลรวมถึงความชอบพร้อมกำลังทรัพย์ผู้อยู่อาศัยด้วย
ส่วนประกอบของกระธางธูป         
ข้าวเปลือก เมล็ดถั่วเขียว เมล็ดข้าวสีแดง ถั่วแดง ถั่วเหลือง หมายถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นมงคล
ผลลำไยแห้ง หมายถึงความเจริญด้วยยศ
เมล็ดสาคู หมายถึงความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
ลูกแก้วที่เป็นหินธรรมชาติ หมายถึงความรุ่งเรืองสดใส 
แหวนเงิน แหวนทอง หมายถึงการได้รับสิ่งที่มีค่า 
เหรียญเงิน เหรียญกษาปณ์ ที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน ถ้าค้าขายต่างประเทศจะใส่เงินตราต่างประเทศด้วยก็ได้ หมายถึงการเงินรายได้ มีทรัพย์สิน
แป้งหอม หมายถึงมีชื่อเสียงหอมกระจาย
กำไลเงินหรือทอง หมายถึงการมีกำไร
กิมฮวยหรือหางนกยูง 1 คู่ หมายถึงความสวยสดงดงาม
ผ้าสีแดงหรือกระดาษแดง สำหรับทำเป็นสัญลักษณ์หน้าหลัง
วิธีการทำกระธางธูป
1.ทำความสะอาดกระธางให้เรียบร้อย ทำเครื่องหมายให้ทราบก่อนว่าด้านไหนเป็นด้านหน้าของกระถางโดยติดกระดาษแดงหรือผูกผ้าแดงเอาไว้
2.ใส่แหวนเงินแหวนทองลงไป
3.นำลูกแก้ววางบนแหวนเงินแวนทอง
4.โปรยเหรียญลงในกระธางโดยให้โรยเวียนขวาตามเข็มนาฬิกา
5.โรยเมล็ดพืชต่างๆ รวมทั้งผลลำไยแห้งกับเมล็ดสาคู จนได้ความสูงประมาณครึ่งหนึ่งของกระธาง
6.วางกำไลลงบนเมล็ดพืช
7.โรยแป้งหอมจนทั่วกระธางธูปให้สูงตามความต้องการ
ระหว่าง ที่ทำพิธีดังกล่าวให้มีสมาธิ คิดถึงความเป็นมงคลสิ่งที่ดีๆต่างๆ การทำกระถางธูปนี้สามารถทำได้ด้วยตนเองหรือจะให้ผู้ที่นับถือทำให้ก็ได้

การบูชาและเครื่องสักการะของเจ้าที่และพระภูมิ
ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสักการะและวิธีการบูชาเจ้าที่
1.การ จุดธูปไหว้เจ้าที่นั้นจะจุดธูป 5 ดอก เพราะมีความเชื่อกันว่าเจ้าที่กำเนิดมาจากพี่น้อง 5 องค์ อีกทั้งสอดคล้องกับธาตุทั้ง 5 ของจีน คือ ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ
2.ในแต่ละวันควรจะไหว้เจ้าที่ด้วยการถวายน้ำหรือน้ำชา  5 ถ้วยเป็นอย่างน้อย
3.ใน แต่ละเดือนควรจะไหว้เจ้าที่ด้วยอาหารคาวหวาน เช่น ผลไม้ต่างๆ เนื้อสัตว์ และกระดาษเงินกระดาษทองจำนวน 12 แผ่น อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน โดยจะเป็นในวันขึ้น 1 ค่ำและขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนก็ได้
4.ในแต่ละปีช่วงเทศกาลตรุษจีนและสาร์ทจีน ควรจะไหว้เจ้าที่ด้วยอาหารคาวหวานต่างๆ พร้อมกระดาษเงินกระดาษทองได้มากมายตามที่ต้องการ
5.ทุก ครั้งที่ถวายอาหารเครื่องสักการะเจ้าที่เมื่อธูปหมดไปอย่างน้อยเกินครึ่งดอก แล้ว สามารถลากระดาษเงินกระดาษทองไปเผาอุทิศได้ จากนั้นค่อยลาของไหว้อื่นๆตาม ลำดับ
6.หากผู้ อยู่อาศัยละเลยไม่สนใจการไหว้และถวายเครื่องสักการะแก่เจ้าที่เป็นประจำ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าที่จะรายงานต่อศูนย์สวรรค์นั้น เจ้าที่สามารถแจ้งการขอ พิจารณาย้ายไปอยู่ที่อื่นได้
ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสักการะและวิธีการบูชาพระภูมิ
1.การจุดธูปไหว้พระภูมินั้นจะจุดธูป ๙ ดอก เพราะพระภูมิมาจากพี่น้อง ๙ องค์
2.ในแต่ละวันควรจะถวายน้ำหรือน้ำชาแก่พระภูมิเป็นอย่างน้อย
3.ทุก ครั้งที่ถวายเครื่องสักการะแก่พระภูมิควรเอ่ยชื่อเรียกบริวารของพระภูมิด้วย คือ นายจันทร์ นายทิศ นายอาจเสน หรือเรียกง่ายๆว่า นายหลวง นายขุน นายหมื่น ให้มารับเครื่องสักการะเซ่นไหว้
4.การถวายอาหารและเครื่องสักการะแก่พระภูมินั้นจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้
เดือนเมษายนและพฤษภาคม  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นยักษ์ การจัดถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องมีเนื้อสัตว์ต่างๆ กุ้ง ปลา เหล้าสุรา
เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นพรามณ์ การจัดถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นมังสวิรัติ ผัก ผลไม้ งดเนื้อสัตว์และอาหารคาวทุกชนิด
เดือนสิงหาคมและกันยายน เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นราชสีห์ การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นเนื้อสัตว์ ของสดของคาวต่างๆ
เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน  เจ้า กรุงพาลีแปลงเป็นช้าง การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นหญ้าแพรก หญ้าปล้อง กล้วย อ้อย ผลไม้ต่างๆ งดเนื้อสัตว์และอาหารคาวทุกชนิด
เดือนธันวาคมและมกราคม เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นนาคราช การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นอาหารคาวหวานต่างๆ
เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม  เจ้ากรุงพาลีแปลงเป็นครุฑ การถวายเครื่องสักการะในเดือนนี้จะต้องเป็นเนื้อสัตว์ต่างๆ ของสดของคาว กุ้ง ปลา
ซึ่งในแต่ละเดือนนั้นควรที่จะถวายเครื่องสักการะแก่พระภูมิอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง
5.ในแต่ละปีอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ควรที่จะจัดเครื่องบูชาสักการะถวายพระภูมิด้วยอาหารคาวหวานต่างๆชุดใหญ่
6.ควรจะลาเครื่องสักการะของไหว้ต่างๆเมื่อธูปใกล้จะหมดดอก ไม่ควรปล่อยให้ธูปดับแล้วค่อยลา เพราะเป็นเคล็ดของการเหลือกินเหลือใช้
7.หากผู้อยู่อาศัยละเลยไม่สนใจไหว้เคารพและไม่ถวายเครื่องสักการะบูชาพระภูมิเป็นประจำ จะทำให้พระภูมิสามารถละทิ้งศาลออกไปได้
ผลไม้ที่ห้ามถวายแก่เจ้าที่และพระภูมิ
1.ละมุด 2.มังคุด 3.พุทธา 4.มะเฟือง 5.มะไฟ 6.น้อยหน่า 7.น้อยโหน่ง 8.มะตูม 9.มะขวิด 10.ลูกจาก 11.ลูกพลับ 12.ลูกท้อ 13.ระกำ 14.กระท้อน 15.ลางสาด
คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าที่และพระภูมิ
1.สามารถที่จะเลือกตั้งศาลเพียงชนิดใดชนิด หนึ่งก็ได้ในที่พักอาศัยหรือพื้นที่อาณาเขตบริเวณของตน ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งศาลอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อม กำลังทรัพย์ของผู้อาศัย รวมทั้งพื้นที่ความสะดวกในการจัดตั้งศาลด้วย
2.ห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีการตั้งศาลโดย เด็ดขาด เพราะพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่มีศีลมากกว่าไม่เหมาะสมแก่การทำพิธีตั้งศาล สามารถนิมนต์เชิญมาทำบุญบ้านหรือสวดมนต์ในระหว่างการทำพิธีตั้งศาลได้เท่า นั้น ควรให้ซินแสหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ทำพิธีกรรมตั้งศาลจะดีกว่า